You are currently viewing สัมนาการบริหารจัดการภาชนะรับแรงดันตามมาตรฐานสากล

สัมนาการบริหารจัดการภาชนะรับแรงดันตามมาตรฐานสากล

การบริหารจัดการภาชนะรับแรงดันตามมาตรฐานสากล

สำหรับผู้บริหารและวิศวกร วันพฤหัสที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมเอสซี ปาร์ค

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ภาชนะรับแรงดันเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการผลิตที่มีความดันมาเกี่ยวข้อง โดยมีการติดตั้งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท ภาชนะรับแรงดันที่มีใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปจะประกอบด้วย ถังบรรจุไอน้ำ, ถังบรรจุสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิต, ถังลมอัด, อุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchangers, Heaters, Coolers), หอกลั่น และภาชนะรับความดันอื่นๆอีกหลายชนิด

ผู้ที่ไม่เคยทำงานหรือไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับภาชนะรับแรงดันมาก่อนมักจะเข้าใจว่าภาชนะรับแรงดันคงไม่แตกต่างจากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชนิดอื่นๆในโรงงาน ที่มีการออกแบบและสร้างมาเพื่อใช้งานตามสภาพการใช้งานที่ออกแบบ และจะทำการซ่อมบำรุงเมื่อมีความเสียหายหรือมีข้อบกพร่องเกิดชึ้นเช่นเดียวกับเครื่องจักรทั่วๆไป จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ การกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบและการสร้าง การจัดซื้อ การตรวจสอบรับรองคุณภาพก่อนการตรวจรับ และการบริหารจัดการภาชนะรับความดันระหว่างการใช้งานอย่างเพียงพอเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของอุปกรณ์ดังกล่าว

ซึ่งในระดับสากล ภาชนะรับแรงดันถูกจัดให้เป็นอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงสูง แตกต่างจากอุปกรณ์หรือเครื่องจักรอื่นๆเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่มีพลังงานภายใน (Stored Energy) สูงและมีโอกาสเกิดการระเบิดหรือเกิดอันตรายกับบุคคลและทรัพย์สินได้มากกว่าเครื่องจักรที่ไม่มีความดัน โดยระดับความเสี่ยงของภาชนะรับแรงดันแต่ละลูกจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ชนิดของสารที่บรรจุอยู่ภายใน (สารพิษ สารระเบิดได้ สารไวไฟ เป็นต้น) สถานะของสาร(ของเหลว หรือ ก๊าซ) ความดันใช้งาน ขนาดหรือปริมาตร อุณหภูมิใช้งาน และสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ สถานที่ใช้งานมีอุณหภูมิต่ำมากๆ เป็นต้น

ดังนั้นในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึง สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ จึงได้กำหนดให้ภาชนะรับแรงดันเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ตามกฎหมายที่แต่ละประเทศกำหนดและมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดมาเป็นเวลายาวนาน หลายสิบปี หรืออาจเป็นร้อยปีในบางประเทศ

ในประเทศไทยมีกฎหมายที่บังคับใช้กับหม้อไอน้ำมาหลายสิบปี แต่เป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายภาชนะรับแรงดันของประเทศไทยยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างสมบูรณ์ และยังไม่มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าว

จึงทำให้หลายๆองค์กรหรือบริษัทที่กำลังใช้งานภาชนะรับแรงดันอยู่ในปัจจุบัน อาจจะอยู่ในสถานะที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากไม่มีการดำเนินการตรวจสอบสภาพด้วยวิธีการและในระยะเวลาที่เหมาะสมตามมาตรฐานสากล จนภาชนะเหล่านั้นเกิดความเสียหาย หรือระเบิด ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ชื่อเสียง รวมถึงความยั่งยืนขององค์กรได้ในอนาคต

ดังนั้นผู้บริหารและวิศวกรที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการใช้งานของภาชนะรับแรงดัน จำเป็นต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องการบริหารจัดการภาชนะรับแรงดัน รวมถึงอุปกรณ์ที่กำลังมีการใช้งานและข้อกำหนดที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดซื้อภาชนะรับความดันใหม่เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลและสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยในอนาคต

โดยการอบรมจะเป็นการให้ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารและวิศวกรที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆดังนี้

  • มาตรฐานสากลที่นิยมใช้ในการออกแบบและการผลิตภาชนะรับแรงดัน
  • ข้อมูลและรายละเอียดที่เจ้าของหรือผู้ใช้ภาชนะรับแรงดันควรรู้ก่อนการออกข้อกำหนดการจัดซื้อ (Technical Specification)
  • ข้อควรระวังและข้อกำหนดเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการผลิตภาชนะรับแรงดัน
  • การตรวจสอบระหว่างการผลิต และการรับรองโดยผู้ตรวจสอบว่าภาชนะรับแรงดันมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่ใช้ในการออกแบบก่อนนำมาใช้งาน
  • การประเมินระดับความเสี่ยงของภาชนะรับแรงดันตามกฎหมายอุปกรณ์รับแรงดันของกลุ่มสหภาพยุโรป (Pressure Equipment Directive, PED)
  • การตรวจสภาพ และการตรวจทดสอบภาชนะแรงดัน หลังจากนำมาใช้งานแล้ว
  • ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติหากมีการซ่อมด้วยวิธีการเชื่อมโลหะ
  • Introduction เรื่องการบริหารจัดการภาชนะรับแรงดันตามมาตรฐาน ISO 55001, Asset Management